เมื่อ : 28 ก.ย. 2566

วันที่ 29 กันยายน ของทุกปีเป็นวันหัวใจโลกหรือ World Heart Day ได้ถูกตั้งขึ้น เพื่อให้ทุกคนตระหนักรู้และให้ความสำคัญกับโรคหัวใจและหลอดเลือด และเพื่อรณรงค์ให้ประชาชนให้มีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับอาการ การดูแลรักษา การป้องกันและการรับมือหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดจากภาวะทางโรคหัวใจและหลอดเลือด ถึงแม้คำว่าโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นคำที่คนทั่วไปคุ้นชิน อย่างไรก็ตามจำนวนผู้ป่วยโรคหัวใจในแต่ละปีกลับเพิ่มสูงขึ้น และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของประชากรทั่วโลกถึง 17 ล้านคนต่อปี และ 40-50% ของจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจมีสาเหตุมาจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน[1] ดังนั้นภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจึงถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญด้านสาธารณสุขของหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย

 

ในฐานะผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพ ฟิลิปส์ตระหนักถึงความสำคัญของอันตรายจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และมีความมุ่งมั่นในการเดินหน้ารณรงค์ถึงอันตรายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงการให้ความรู้ด้านการช่วยชีวิตเบื้องต้นในผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest: SCA) ที่อาจเกิดขึ้นนอกโรงพยาบาล เพราะสถิติแสดงให้เห็นว่าในหนึ่งวันมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากสาเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 1000 คนต่อวัน[2] โดยสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย เมื่อภาวะดังกล่าวไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาชนทั่วไปควรมีความรู้พื้นฐานในการช่วยชีวิต เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดอัตราการเสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

 

ความแตกต่างระหว่างภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (SCA) และภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน(Heart Attack)

หนึ่งในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันของคนทั่วไปคือ ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest : SCA) คือภาวะเดียวกันกับภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน หรือ Heart Attack เมื่อหัวใจมีหน้าที่สูบฉีดเลือดเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายให้สามารถทำงานได้ปกติ หัวใจจะทำงานด้วยจังหวะการเต้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาโดยเฉลี่ย 36-42 ล้านครั้งต่อปี โดยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน คือภาวะที่หัวใจหยุดทำงานอย่างกระทันหันด้วยความผิดปกติของระบบไฟฟ้าในหัวใจ ทำให้หัวใจห้องล่างมีการเต้นผิดจังหวะอย่างรุนแรงหรือที่เรียกว่าหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้ว (Ventricular Fibrillation: VF) ซึ่งจะเกิดขึ้นในทันทีโดยไม่มีสัญญาณของอาการอื่น ๆ เกิดขึ้นล่วงหน้า และเมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นจะทำให้ไม่มีการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายจนการทำงานของอวัยวะผิดปกติ โดยเฉพาะเมื่อเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอพอ จะทำให้คนไข้มีอาการหมดสติภายในไม่กี่วินาทีและอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยชีวิตด้วยการ CPR และใช้เครื่อง AED อย่างทันท่วงทีโดยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถพบได้ในทุกช่วงอายุ แต่สามารถพบบ่อยในผู้ใหญ่วัยกลางคนที่มีอายุระหว่าง 30-40 ปี และมีสถิติการเกิดภาวะดังกล่าวในเพศชายมากกว่าเพศหญิง 2 เท่า[3]
ในขณะที่ภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลัน (Heart Attack) คือภาวะที่หัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ซึ่งจะมีสัญญาณเตือนล่วงหน้าที่สามารถสังเหตุได้เช่น อาการเจ็บหน้าอก เหงื่อออกเยอะ ใจสั่น หายใจสั่นและรู้สึกหายใจไม่อิ่ม อย่างไรก็ตามทั้ง 2 ภาวะมีความเกี่ยวเนื่องกัน เพราะการเกิดภาวะหัวใจกำเริบเฉียบพลันอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ ทำให้ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นในผู้ป่วยโรคหัวใจ แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถเกิดขึ้นกับผู้ที่ไม่ได้ป่วยโรคหัวใจมาก่อนได้ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเฉลี่ยปีละกว่า 54000 คน หรือประมาณ 6 คนต่อหนึ่งชั่วโมง[4]

 

สาเหตุการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ ความผิดปกติของหัวใจโดยกำเนิด หรือในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี อาจเกิดจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาชนิดไม่ทราบสาเหตุหรือภาวะเส้นเลือดหัวใจขาดเลือดในคนอายุน้อย และผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป ความเสี่ยงของภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันอาจเกิดขึ้นจาก โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูงหรือการสูบบุหรี่จัด[5] นอกจากนี้ยังสามารถพบได้ในกรณีฉุกเฉินเช่น อุบัติเหตุ การออกกำลังกายหนักเกินไป การตกใจหรือพบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ที่ทำให้หัวใจเกิดการทำงานผิดปกติ ทางเดินหายใจอุดกั้น รวมทั้งอาจเกิดจากการได้รับยาเกินขนาดหรือแพ้ยา จะเห็นได้ว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และกับทุกคน
AED ตัวช่วยสำคัญในการช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจำเป็นต้องเริ่มการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานด้วยการนวดหัวใจหรือหากบริเวณนั้นมีเครื่อง Automated External Defibrillator หรือ AED ให้รีบนำเครื่องมาใช้ในทันที เพราะอ้างอิงจากสถิติของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกาพบว่า 90% ของผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาล (Out-of-Hospital Cardiac Arrest: OHCA) มักเสียชีวิตในทันที ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าตามสถานที่ต่าง ๆ จึงมีการติดตั้งเครื่อง AED ทั้งในสนามบิน โรงเรียน สนามกีฬา สถานีรถไฟฟ้าหรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าก็ตาม เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

 

ห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา ได้กำหนดห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต (Chain of Survival) เพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนอกโรงพยาบาลไว้ 6 ขั้นตอน ดังนี้

  • ประเมินสถานการณ์และแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินให้เร็วที่สุด (Activation of Emergency Response) หากพบผู้ป่วยหมดสติ หัวใจหยุดเต้น โทรแจ้งที่เบอร์ 1669 และทำการแจ้งอาการเบื้องต้นที่สังเกตได้ ณ ตอนนั้น โดยหากเป็นไปได้ควรระบุเพศและอายุโดยคร่าวๆ ของผู้ป่วยให้ผู้ประเมินสถานการณ์ทราบ
  • ทำการนวดหัวใจที่มีคุณภาพทันท่วงที (High Quality CPR) โดยความสำคัญของการทำ CPR อยู่ที่การนวดหัวใจที่ต้องทำให้ถูกต้องและทันเวลา เพราะหากสมองขาดออกซิเจนไปเกิน 4 นาที สมองอาจเสียหายได้[6] จากสถิติของสมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกาพบว่าการทำ CPR อย่างถูกวิธีสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต (Survival Rate) ได้ถึง 3 เท่า โดยเริ่มต้นจากการกระตุ้นด้วยการเรียกผู้ป่วยว่าผู้ป่วยรู้สึกตัวหรือมีการตอบสนองหรือไม่ หากผู้ให้การช่วยเหลือรู้วิธีการคลำชีพจรให้คลำชีพจรเพื่อตรวจสอบ และหากไม่พบชีพจรให้เริ่มทำการกดหน้าอกผู้ป่วยบริเวณตรงกลางซึ่งเป็นตำแหน่งที่อยู่ของกระดูกหน้าอก โดยบริเวณนี้จะมีความปลอดภัยเนื่องจากมีกระดูกรองรับอยู่ โดยให้กดที่ตำแหน่งครึ่งล่างของกระดูกหน้าอก ใช้สันมือหนึ่งข้างในการกดพร้อมกับใช้มืออีกข้างหนึ่งล็อคมือที่ใช้กดหน้าอกไว้ กดหน้าอกให้ลึกลงไปประมาณ 2 นิ้ว และควรระวังไม่ให้ลึกเกิน 2.4 นิ้ว ซึ่งปกติแรงกดของคนทั่วไปมักไม่เป็นอันตราย จึงควรพยายามกดให้แรงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการกระตุ้นหัวใจ โดยใช้ความเร็วในการกดหน้าอกที่ 100-120 ครั้งต่อนาที[7]
  • ใช้เครื่องคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้า (Defibrillation) ด้วยการช็อกด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Shock) จากเครื่องมือที่เรียกว่า Defibrillator ซึ่งเมื่อเหตุนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในโรงพยาบาลสามารถใช้เครื่อง AED ที่สามารถใช้งานโดยคนทั่วไประหว่างรอให้หน่วยกู้ชีพฉุกเฉินจะเดินทางมาถึง
  • ได้รับบริการการแพทย์ฉุกเฉินขั้นสูง (Advanced Resuscitation)
  • การดูแลหลังภาวะหัวใจหยุดเต้น (Post-Cardiac Arrest Care)
  • การดูแลพักฟื้นและติดตามอาการ (Recovery)

 

ความสำคัญของเครื่อง AED ต่อผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน

จาก 6 ขั้นตอนห่วงโซ่แห่งการรอดชีวิต (Chain of Survival) จะเห็นได้ว่าในการช่วยชีวิตผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นในขั้นเบื้องต้นจำเป็นต้องใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR เนื่องจากผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่าร้อยละ 50 เกิดจากภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในลักษณะของหัวใจห้องล่างเต้นพลิ้วจากระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ หากเกิดภาวะนี้จำเป็นต้องใช้เครื่อง AED เพื่อคืนคลื่นหัวใจด้วยคลื่นไฟฟ้าถ้าไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวอาจส่งผลอันตรายถึงชีวิตจึงถือได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่มีความสำคัญในการช่วยชีวิตเป็นอย่างมาก โดยเครื่อง AED สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเท่านั้น  โดยข้อมูลสถิติจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุว่า การใช้เครื่อง AED ร่วมกับการทำ CPR ภายใน 3-5 นาที จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตได้ถึง 45%[8]