เมื่อ : 26 เม.ย. 2567

นายไพศาล เครือวงศ์วานิช ประธานคณะผู้บริหาร กลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์  เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ซีพีมีนโยบายให้ความสำคัญกับการสร้างห่วงโซ่การผลิตอาหารที่ยั่งยืนบังคับใช้กับทุกกลุ่มธุรกิจ  โดยในกลุ่มธุรกิจการค้าวัตถุดิบอาหารสัตว์มุ่งมั่นในการจัดหาวัตถุดิบหลักทางการเกษตรอย่างรับผิดชอบสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าจากแหล่งปลูกที่ถูกกฎหมาย ไม่ตัดไม้ทำลายป่า และไม่เผา สนับสนุนการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และปฏิบัติตามนโยบายเครือฯ “นโยบายไม่รับซื้อ  และไม่นำเข้าผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากพื้นที่รุกป่า และพื้นที่ที่มาจากการเผา”  พร้อมทั้งได้พัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Corn Traceability) ขึ้นมาใช้ในการจัดหาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในกิจการประเทศไทยตั้งแต่ปี 2559เป็นต้นมา เชื่อมั่นว่าระบบตรวจสอบย้อนกลับคือทางออกในการแก้ปัญหาการบุกรุกป่าและการเผาแปลง ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ โดยซีพีพร้อมเป็นต้นแบบนำเทคโนโลยีตรวจสอบย้อนกลับ หยุดฝุ่นควันภาคเหนือ

 

“ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ในระบบตรวจสอบย้อนกลับของเรา  สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาได้ 100% ทำให้มั่นใจได้ว่า ข้าวโพดที่จัดซื้อไม่ได้มาจากการเผาและบุกรุกป่า  นอกจากนี้ คู่ค้าและเกษตรกร ได้ปรับตัวลงทะเบียนเข้าสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับ หลังจากได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำการเกษตรอย่างถูกวิธี และตระหนักถึงปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ในพื้นที่ที่มากขึ้น เพราะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ที่สำคัญคือการปรับตัวให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของประชาคมโลกในประเด็นสิ่งแวดล้อม โดยปัจจุบันมีเกษตรกรในระบบตรวจสอบย้อนกลับของซีพีมากกว่า 40000 ราย”  นายไพศาล  กล่าว

 

นายชนาธิป กองทอง กรรมการ บริษัททวีทองการเกษตร อ.บ้านธิ จ.ลำพูน ผู้ประกอบการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ภาคเหนือ เปิดเผยว่า ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่บริษัททวีทองรับซื้อจากเกษตรกรส่วนใหญ่มาจากพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ฤดูกาลเก็บเกี่ยวเริ่มตั้งแต่สิงหาคมจนถึงกุมภาพันธ์ โดยมีปริมาณรับซื้ออยู่ที่ 18000 ตันต่อปี  มีคู่ค้าเอกชนประมาณ 3 - 4 แห่ง โดยปัจจุบันมีซีพีเป็นคู่ค้าเพียงรายเดียวที่นำระบบตรวจสอบย้อนกลับมาบังคับใช้  สำหรับเกษตรกรที่ต้องการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับซีพีจะต้องลงทะเบียนเข้าระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยใช้ข้อมูลจากสมุดทะเบียนเกษตรกร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งจะมีข้อมูลการถือครองที่ดินของเกษตรกรที่ระบุชัดเจนถึงพิกัดของเอกสารสิทธิ์แปลงเพาะปลูก จำนวนพื้นที่(ไร่)  และชนิดพืชที่เพาะปลูก  ข้อมูลทั้งหมดนี้จะถูกนำไปเข้าในระบบตรวจสอบย้อนกลับของซีพีที่จะไปเชื่อมโยงกับแผนที่ภาพถ่ายทางดาวเทียม และแผนที่จุดความร้อน หรือ Hot Spot ของ NASA เพื่อตรวจสอบการเผาในแปลงเพาะปลูก โดยระบบจะมีการแจ้งเตือนเมื่อพบการเผาในแปลงเพาะปลูกที่ลงทะเบียนในระบบฯ เกษตรกรที่เผาแปลงจะต้องถูกตักเตือนก่อนในครั้งแรก หากยังมีครั้งต่อไปจะถูกยกเลิกและขึ้นบัญชีดำห้ามซื้อขายกับซีพีทันที

ปัจจุบันลานรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของทวีทองการเกษตร มีเกษตรกรอยู่ในระบบของซีพีประมาณ 30%  จากเดิมที่เพียง 10% เท่านั้นที่ยอมเข้าระบบตรวจสอบย้อนกลับ  ทั้งนี้คาดว่าจะมีเกษตรกรเพิ่มขึ้นอีกเรื่อย ๆ เพราะเริ่มมีความเข้าใจประกอบกับแรงจูงใจเรื่องของราคาที่สามารถขายได้ราคา นอกจากนี้สังเกตุได้ว่าเกษตรกรได้ตระหนักถึงเรื่องของ PM 2.5 และรับรู้ถึงผลดีของการมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ คือ ทำให้เกษตรกรไทยมีโอกาสมากขึ้นในตลาดโลก เนื่องจากในอนาคตก็จะมีกฎหมายของ EUDR ซึ่งเป็นมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมของสหภาพยุโรปเพื่อลดการตัดไม้ทำลายป่า มีผลต่อการนำเข้าสินค้าเข้ายุโรป 7 รายการ ได้แก่ ถั่วเหลือง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ไม้ กาแฟ โกโก้ และวัว ไม่ให้มีการรับซื้อสินค้าเกษตรที่มาจากบุกรุกพื้นที่ป่า และยังทำให้ผู้ค้าสามารถรู้ปริมาณผลผลิตล่วงหน้า การใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับกับซีพีจึงถือเป็นการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

 

ด้าน นายจิตรกร แก้วยองผาง กรรมการ บริษัท เค.วาย.พี. ธุรกิจการเกษตร (2012) จำกัด เจ้าของลานรับซื้อผลผลิตทางการเกษตร อ.ลี้ จ.ลำพูน กล่าวว่า ในฐานะคู่ค้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ได้ตัดสินใจเข้าร่วมกับซีพีใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับตั้งแต่เริ่มต้นเนื่องจากมองถึงแนวโน้มของตลาดโลกที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการไม่บุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งช่วงแรกของการใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เกษตรกรไม่รู้ด้วยซ้ำว่าห้ามปลูกข้าวโพดในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ และไม่มีความรู้เรื่องระบบตรวจสอบย้อนกลับ จึงประสานกับซีพีให้ส่งเจ้าหน้าที่ให้ความรู้กับเกษตรกร จนมีเกษตรกรเข้าร่วมลงทะเบียนใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ ประมาณ 50% ของพื้นที่ทั้งหมดที่มีเอกสารสิทธิ์ ต่อมาเมื่อเกษตรกรรายอื่น ๆ เห็นว่าการขายข้าวโพดที่มาจากแปลงปลูกที่มีเอกสารสิทธิ์และไม่เผาเมื่อขายให้กับซีพีได้ราคาที่สูงกว่าท้องตลาด จึงสนใจเข้าสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับมากขึ้น จนถึงปัจจุบันปรากฏว่าเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์เข้าร่วมระบบตรวจสอบย้อนกลับกับเราแล้ว 80%  ทั้งนี้มองว่าระบบตรวจสอบย้อนกลับกับซีพีมีส่วนช่วยแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นควัน รวมถึงยังเป็นความก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากซีพีเป็นลูกค้าที่มีมาตรฐานระดับโลก ถ้าสินค้ามีคุณภาพมีตลาดรองรับที่แน่นอน โดยขั้นตอนการรับซื้อที่ลานจะมีการให้บริการสีข้าวโพด จากนั้นจะตีราคา วัดความชื้นดูคุณภาพ ก่อนเข้าสู่กระบวนการอบลดความชื้น แยกสิ่งเจือปน ร่อนเม็ดแตก เป่าฝุ่นออก ตามกระบวนการควบคุมคุณภาพ ก่อนนำส่งเข้าโรงงานของซีพี ซึ่งการส่งเข้าโรงงานผลิตอหารสัตว์ของซีพีจะต้องมีการตรวจสอบข้อมูลตามที่มีลงทะเบียนไว้ในระบบตรวจสอบย้อนกลับ

 

สำหรับเกษตรกรที่อยู่ในระบบตรวจสอบย้อนกลับของซีพี  นางรัตนา แกนุ เกษตรบ้านบนนา อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตนได้เข้าสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับของซีพีจากคำแนะนำของพ่อค้าคนกลาง ที่แจ้งว่าต่อไปหากต้องการขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับซีพีจะต้องลงทะเบียน เจ้าหน้าที่จึงมาให้คำแนะนำ มีการตรวจสอบเอกสารสมุดทะเบียนเกษตรกรและเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน พร้อมช่วยลงข้อมูลเข้าสู่ระบบตรวจสอบย้อนกลับให้ จึงไม่ยุ่งยาก ข้อดีของการขายข้าวโพดให้ซีพี คือ ได้ราคาดีและไม่ยุ่งยากขอเพียงมีเอกสิทธิ์ที่ดินและไม่เผาแปลงปลูกเท่านั้น  ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านส่วนใหญ่ก็หันมาใช้วิธีไถกลบมากขึ้น เพราะมีการรณรงค์และเน้นย้ำจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐห้ามเผา ทำให้ชาวบ้านเกรงกลัวกฎหมาย ที่ผ่านมายึดทำอาชีพการเกษตรและปลูกข้าวโพดมาโดยตลอด ปลูกในแปลงที่มีเอกสารสิทธิ์พื้นที่ 4 ไร่ โดยปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 รอบในช่วงฤดูฝน หลังจากนั้นจะปลูกพืชชนิดอื่นหมุนเวียน เช่น ผัก ข้าวโพดหวาน จะไม่มีการเผาแปลงเด็ดขาดแต่ใช้วิธีไถกลบเพื่อเป็นปุ๋ยในดิน การปลูกข้าวโพดสามารถสร้างรายได้พออยู่พอกินและทำให้สามารถส่งลูกเรียนจนจบการศึกษามีอาชีพที่มั่นคง  

 

หากวันนี้ยังมีเพียงเอกชนน้อยรายที่ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ ก็จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาหมอกควัน PM 2.5 ที่มาจากการเผาพื้นที่เกษตรในภาคเหนือได้  ทางออกคือรัฐต้องมีกฎหมายบังคับให้ทุกบริษัทข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศไทย ใช้ระบบตรวจสอบย้อนกลับ เพื่อหยุดการเผา ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ