เมื่อ : 11 มิ.ย. 2567

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากเจตนารมณ์ของ คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ได้เล็งเห็นสภาวะปัญหาเรื่องสภาพอากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงได้ผลักดันนโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืนทั้งทางบก และทางทะเลในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางด้านความยั่งยืนสากล UN Global Compact และ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs โดย “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยที่ยั่งยืน” เป็นหนึ่งในนโยบายแกนหลักที่จะอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลเชิงบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย ในฐานะที่เครือซีพี เป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของระบบเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารที่เกี่ยวข้องกับทะเลไทย

โดยในปี 2567 เครือซีพี ยังคงสานต่อนโยบาย “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยที่ยั่งยืน” จากการที่ทรัพยากรต่างๆ ในทะเลลดลง ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนชาวประมง ซึ่งศักยภาพของการหาเลี้ยงดำรงชีพ วัดได้จากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ เมื่อมีปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เรื่องคุณภาพน้ำจากขยะในทะเล ทำให้ทรัพยากรในทะเลเสื่อมโทรมลง ประกอบกับปัญหาที่เกิดจากเครื่องมือประมงบางชนิดทำลายระบบนิเวศ ทำให้จำนวนสัตว์น้ำลดลงอย่างมาก ทั้งหมดนี้จึงเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เครือซีพี จึงมีนโยบายในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล การพัฒนาชุมชน และการพัฒนาเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างจริงจัง โดยทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ชุมชน ชาวประมง ซึ่งครอบคลุมทั้งในอ่าวไทยและอันดามันของประเทศไทย รวม 10 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตราด สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา กระบี่ ตรัง สตูล ปัตตานี และนราธิวาส โดยในปี 2567 ยังคงสานต่อนโยบายขับเคลื่อนงานสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่

 

ด้านอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลให้ยั่งยืน ด้วยการใช้นวัตกรรมและงานวิจัย ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากปัญหาที่พบคือ ทรัพยากรสัตว์น้ำลดลง ขาดการบริหารจัดการพื้นที่ทางทะเล ทำให้ชาวประมงขาดรายได้ เครือซีพีจึงมีการนำองค์ความรู้ด้านนวัตกรรมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ควบคู่ไปกับการจัดทำงานวิจัย เพื่อศึกษาทรัพยากรสัตว์น้ำที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ เช่น สนับสนุนชุมชนชาวประมงใช้นวัตกรรมธนาคารสัตว์น้ำ (Seaco Incubator) พร้อมทั้งทำซั้งบ้านปลาเพื่อเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ สนับสนุนการจัดตั้งแนวเขตอนุรักษ์ที่ชัดเจน เพื่อเพิ่มปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำ จะทำให้เสริมสร้างความสมดุลและความอุดมสมบูรณ์ให้กับทะเล รวมทั้งเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชน

 

ด้านการสร้างสมดุล 3 มิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งหากพูดถึงความยั่งยืนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล จำเป็นต้องดำเนินการควบคู่ไปกับความเป็นอยู่ของชุมชนและกลุ่มชาวประมง ด้วยแนวคิด “อนุรักษ์มีรายได้” สร้างการตระหนักรู้แก่กลุ่มชาวประมง หากให้ความสำคัญด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล มีการทำประมงเชิงอนุรักษ์ และใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสม ก็จะทำให้ชาวประมงมีรายได้เลี้ยงชีพเพิ่มขึ้นไปด้วย

 

ด้านสนับสนุนการขับเคลื่อนและพัฒนา ยกระดับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ถือเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชนทุกพื้นที่ที่ติดทะเล แต่ปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรทางทะเลเสื่อมโทรม การเปลี่ยนแปลงกฎหมายด้านประมง ที่ส่งผลกระทบต่อการทำประมงรูปแบบเดิม เครือซีพี จึงมีแนวคิดพัฒนา “กลุ่มชาวประมงต้นแบบด้านการอนุรักษ์” เพื่อยกระดับสร้างความเข้มแข็ง โดยสนับสนุนกองทุนกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการรณรงค์ใช้เครื่องมือประมงที่เหมาะสม และนำไปบริหารจัดการกลุ่ม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนต่อไป

 

ด้านส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าทางทะเล การท่องเที่ยว และธุรกิจโดยชุมชน เครือซีพีเล็งเห็นศักยภาพของกลุ่มชาวประมงในการผลิตสินค้าทะเลแปรรูป และผลักดันการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ สิ่งที่สำคัญคือสนับสนุนองค์ความรู้ เพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้กับสินค้าของชุมชน ตั้งแต่กระบวนการผลิต การแปรรูป การสร้างอัตลักษณ์แบรนด์สินค้าให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างโอกาสให้ชุมชนสามารถนำสินค้าเข้าสู่ตลาดโมเดิร์นเทรดได้ นอกจากนี้ ด้านธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ผลักดันให้เกิดโมเดลต้นแบบ มีระบบการทำงานแบบมืออาชีพ ส่งเสริมการตลาดผ่านสื่อสาธารณะ ซึ่งการส่งเสริมนโยบายด้านนี้ ถือเป็นปัจจัยในการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน เป็นเป้าหมายด้านพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

 

ด้านสร้างความตระหนักรู้ความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลแก่สังคม อย่างไรก็ตาม เครือซีพี ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการตระหนักรู้ มีความเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพยากรทางทะเลให้แก่ประชาชนและสังคม พร้อมทั้งการจัดกิจกรรมด้านความยั่งยืนทางทะเลในทุกพื้นที่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนให้เกิดความรัก ความหวงแหนทรัพยากรทางทะเลในภูมิลำเนาของตนเอง

 

ทั้งนี้ เครือซีพี ยังคงมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์  ไปพร้อมกับการผลักดันเศรษฐกิจชุมชน สร้างชุมชนเข้มแข็งด้วยการสร้างอาชีพด้านการประมงที่เหมาะสม การแปรรูปสินค้า ตลอดจนการท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ แต่สิ่งที่เครือซีพี ให้สำคัญที่สุด คือ การศึกษา การให้ความรู้ ความเข้าใจแก่คนในชุมชน กลุ่มประมง และเด็กๆเยาวชนในพื้นที่ ให้เป็นกลไกทางสังคมในการอยู่ร่วมกับทรัพยากรทางทะเลได้อย่างพึ่งพาอาศัย เป็นห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืน

-###-

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ