สสว. จับมือ สอวช. จัดงาน Green SME Forum 2024 เดินหน้าผลักดันผู้ประกอบการ SME สู่เศรษฐกิจสีเขียวอย่างยั่งยืน
สสว. จับมือ สอวช. ขับเคลื่อนการส่งเสริม SME ให้ปรับตัวสู่ Green Economy พร้อมประกาศแนวทางการส่งเสริมผ่านงาน “Green SME Forum 2024” โดยมี 15 หน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมถ่ายทอดความรู้และส่งเสริม SME ปรับสู่เศรษฐกิจสีเขียวด้วย 6 ด้านสำคัญ ทั้งด้านการปรับตัว ด้านมาตรฐานสินค้าและบริการ ด้านเครื่องมือ ด้านแหล่งเงินทุน ด้านสิทธิประโยชน์ และด้านตลาด เป้าหมายเพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ SME เติบโตอย่างยั่งยืน
วันนี้ (26 สิงหาคม 2567) สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ร่วมกับ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดงานสร้างเครือข่ายและประกาศเจตนารมย์ความร่วมมือการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green SME Forum 2024: Assembling the path to Sustainability) ณ ห้องประชุมฟีนิกซ์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี มีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ที่มีบทบาทด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินธุรกิจของ SME เข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) โดยเริ่มตั้งแต่กระบวนการสร้างความตระหนักรู้ ส่งเสริมระบบนิเวศ และสนับสนุนองค์ความรู้เพื่อการปรับตัวให้สามารถรองรับผลกระทบจากมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมทั้งในและต่างประเทศ กระบวนการขอรับรองมาตรฐาน กระบวนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ตลอดจนกระบวนการเข้าสู่ตลาด รวมถึงการผลักดันให้ SME สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่เกี่ยวข้องได้อย่างทั่วถึง
ภายในงานครั้งนี้ ได้รับเกียรติจากผู้แทนหน่วยงานขับเคลื่อนที่สำคัญมาร่วมกันประกาศเจตนารมย์ความร่วมมือการขับเคลื่อนพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ดังนี้
1. ดร.ธิติวัฐ อดิศรพันธ์กุล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง
2. นายโกเมนทร์ ทีฆธนานนท์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
3. นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
4. นายอภิชิต ประสพรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และประธานสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI)
5. นายธวัชชัย เศรษฐจินดา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย
6. นายกฤศ จันทร์สุวรรณ ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม และรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
7. ดร. ไชยยศ บุญญากิจ อุปนายกสมาคมส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน (ประเทศไทย)
นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีกิจกรรมที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ได้แก่
(1) พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SME ใน Supply Chain เพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจด้านมาตรฐานสินค้าและข้อมูลผู้ให้บริการที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ระหว่าง สสว. กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดย ดร.ปณิตา ชินวัตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน รักษาการแทนผู้อำนวยการ สสว. และ รองศาสตราจารย์ วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. และร่วมเป็นสักขีพยาน โดยนายกุลิศ สมบัติศิริ ประธานคณะกรรมการบริหาร สสว. และนายยุทธศักดิ์ สุภสร ประธานกรรมการคณะกรรมการ กนอ. ซึ่งบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อพัฒนาส่งเสริมและเชื่อมโยงผู้ประกอบการ SME ภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่อยู่ในพื้นที่ของ กนอ. ให้สามารถเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจสีเขียว (Green Transformation) ยกระดับ และต่อยอดธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันรวมถึงความมั่นคงและยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจต่อไปในอนาคต
(2) เสวนาและจัดนิทรรศการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวจากหน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 15 หน่วยงาน กับ 6 Jigsaw ได้แก่ Jigsaw 1 : Green Transition Facilitator (หน่วยงานสนับสนุนการปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียว) Jigsaw 2 : Green Standard (หน่วยงานด้านมาตรฐานสินค้าและบริการสีเขียว) Jigsaw 3 : Green Enterprise Indicator - GEI (แนวทางการพัฒนาเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านผู้ประกอบการสีเขียว) Jigsaw 4 : Green Financing (หน่วยงานด้านการสนับสนุนแหล่งเงินทุน) Jigsaw 5 : Green Incentives (หน่วยงานด้านสิทธิประโยชน์) Jigsaw 6 : Market Access and Global Value Chain (หน่วยงานด้านการส่งเสริมตลาด) เพื่อให้ SME ไทย มีแนวทางที่จะเติบโตได้อย่างแข้มแข็งและยั่งยืน และเป็นการนำเสนอมาตรการสนับสนุน SME เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว โดยการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังเสวนา และร่วมกิจกรรมภายในงานงานจากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้ประกอบการในธุรกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว ผู้ประกอบการ SME องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม นิสิตนักศึกษาและประชาชนที่สนใจเริ่มต้นธุรกิจเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ สสว. และ สอวช. ในฐานะหน่วยงานหลักในการจัดทำนโยบายและบูรณาการความร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะทำหน้าที่เป็นโซ่ข้อกลางในการเชื่อมต่อการทำงานของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้รับความร่วมมือจาก กรมสรรพากร กรมส่งเสริมการเกษตร กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย การนิคมแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทยแห่งประเทศไทย และเครือข่ายส่งเสริมการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนแห่งประเทศไทย ที่จะร่วมกันขับเคลื่อนการเชื่อมโยงเครือข่าย SME สู่ธุรกิจสีเขียว (Green Economy) พร้อมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ เพื่ออนาคตของประเทศที่ยั่งยืนต่อไป
********************************************************************************