เมื่อ : 18 ก.ย. 2567

 กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สัญจรจังหวัดขอนแก่น เปิดพื้นที่ให้ผู้ประกอบการชุมชน จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดข้างเคียง เช่น อุดรธานี บุรีรัมย์ นำผลิตภัณฑ์เข้าเจรจาธุรกิจกับเทรดเดอร์/บายเออร์ รายใหญ่ระดับประเทศ เพิ่มช่องทางการตลาดและสร้างการรับรู้สินค้าชุมชนถิ่นอีสานให้เป็นที่รู้จัก ยิ้มกว้าง!! ผลการเจรจาสามารถปิดดีลสินค้าจับคู่ธุรกิจได้ 34 คู่เจรจา มูลค่ารวมกว่า 3.27 ล้านบาท มั่นใจสินค้าพื้นถิ่นอีสานมีเสน่ห์เฉพาะตัวที่โดดเด่นนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทยต้องตื่นตาถูกใจกับสินค้าที่ผ่านการคัดสรรเป็นอย่างดีอย่างแน่นอน
        นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า “กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างเทรดเดอร์/บายเออร์รายใหญ่ของประเทศไทย กับ ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนจังหวัดขอนแก่น และจังหวัดข้างเคียง เช่น อุดรธานี บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2567 ณ โรงแรม อวานี ขอนแก่น โฮเต็ล แอนด์ คอนเวนชั่น จ.ขอนแก่น โดยมีเทรดเดอร์/บายเออร์ 7 ราย ได้แก่ บริษัท คิง เพาเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริษัทสยามพิวรรธน์ บริษัท คัลเจอร์ คอนเน็กซ์ จำกัด Nature Life Herb โรงแรมโฮเทลโมโค โรงแรม Amman Unique Hotel และโรงแรม เดอ ปริ้นเซส จังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมเวทีเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการชุมชน เพื่อนำผลิตภัณฑ์ชุมชนแดนอีสานเข้าจำหน่ายในศูนย์การค้าฯ และร้านค้าต่างๆ ของเทรดเดอร์และบายเออร์ที่เข้าร่วมเจรจาธุรกิจ
         การเจรจาธุรกิจข้างต้น เป็น 1 ในกิจกรรมเสริมสร้างขีดความสามารถทางการค้าผู้ประกอบการชุมชนของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โดยแบ่งการจัดงานออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 วันจันทร์ที่ 16 กันยายน 2567 กิจกรรมเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสู่ตลาดเชิงรุกพัฒนาทักษะด้านการตลาดแก่ผู้ประกอบการ หัวข้อ ‘การตลาดแบบยั่งยืน’ โดย ดร.ณัฐนรินทร์ เนียมประดิษฐ์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมการค้าส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ SME และฝึกปฏิบัติ (Work shop) ‘การจัดวางสินค้าอย่างมืออาชีพ’ โดย คุณปรีย์ดารา ลัมพสาระ ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัด Display ผลิตภัณฑ์ มีผู้ประกอบการเข้าร่วม จำนวน 56 ราย
        ส่วนที่ 2 วันอังคารที่ 17 กันยายน 2567 จัดกิจกรรมเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการกับเทรดเดอร์/บายเออร์ชั้นนำ 7 ราย โดยภายในงานผู้ประกอบการฯ ได้นำผลิตภัณฑ์มาแสดง (Display) เพื่อให้เทรดเดอร์/บายเออร์ได้เห็นผลิตภัณฑ์ก่อนการเจรจาธุรกิจ ทั้งนี้ ระหว่างการเจรจาธุรกิจ เทรดเดอร์/บายเออร์ได้ให้คำปรึกษาแนะนำ ถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์และแพ็คเกจจิ้งเพื่อดึงดูดความน่าสนใจผู้บริโภค ทำให้ผลิตภัณฑ์มีความโดดเด่นขึ้นด้วย ซึ่งผู้ประกอบการฯ จะได้รับความรู้/รับฟังข้อเสนอแนะที่ดี ก่อนนำไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของตลาด นอกจากนี้ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าจำหน่ายภายในศูนย์การค้าฯ และร้านค้าต่างๆ ยังถือเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมชุมชนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง พร้อมส่งเสริมและผลักดันให้เป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ที่ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์ แสดงถึงความมีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่เป็นหนึ่งเดียว ตลอดจนสร้างรายได้ที่มั่นคงแก่ผู้ประกอบการชุมชนระยะยาว
        ผลการเจรจาธุรกิจประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ภายในวันเดียวสามารถปิดดีลการเจรจาได้ถึง 34 คู่ สร้างมูลค่าการค้ากว่า 3.27 ล้านบาท โดยมียอดขายภายในงานทันที 25294 บาท ผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความสนใจจากเทรดเดอร์/บายเออร์ 5 อันดับแรก ได้แก่ 1) ของใช้รักษ์สิ่งแวดล้อม 2) เครื่องแต่งกายผ้าฝ้ายสีธรรมชาติ 3) กาแฟ 4) ข้าวตอกคั่วกะทิ และ 5) ซอสปรุงรส ซึ่งทั้ง 5 ผลิตภัณฑ์ เป็นสินค้าชุมชนที่เป็นไฮไลท์มีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัว และคาดว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของนักท่องเที่ยวทั้งชาวต่างชาติและชาวไทย เป็นการสร้างโอกาสทางการค้าให้ผู้ประกอบการสินค้าชุมชนได้ขยายตลาดให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น และเป็นการกระตุ้นตลาดผลิตภัณฑ์ชุมชนของไทยอย่างต่อเนื่อง” อธิบดีอรมน กล่าวทิ้งท้าย
        ข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2566 ประเทศไทยมี MSME จำนวนทั้งสิ้น 3225743 ราย มีมูลค่า 6317181 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 35.2 ของ GDP รวม เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีสัดส่วนร้อยละ 35.1 โดยเป็นผู้ประกอบการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 752529 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 23.32 ของจำนวน MSME ทั้งหมดของประเทศ

 

#SuperDBD
#กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
#กระทรวงพาณิชย์