เมื่อ : 09 ก.พ. 2568

 รมว.พณ.พิชัย และ รมช.พณ.นภินทร สั่งการ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เร่งลงพื้นที่ต่างจังหวัดสร้างโอกาสเกษตรกรไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ หลังพบเกษตรกรตื่นตัวต้องการปลูกป่าเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้ชุมชน พร้อมนำไม้ยืนต้นที่ปลูกมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อ ช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ล่าสุด พาณิชย์ จับมือ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ จ.นครพนม ให้ความรู้เกษตรกรทราบถึงสิทธิประโยชน์ และรายละเอียดการขอสินเชื่อ กรณีนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ อึ้ง!! เห็นภูมิปัญญาท้องถิ่นนำน้ำยางจากต้นยางนาที่ปลูกในพื้นที่มาต่อยอดผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน เช่น สบู่ ครีมทาตัว ยาหม่อง ฯลฯ นอกจากนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้ว ยังสามารถนำผลประโยชน์ภายในต้นไม้มาสร้างรายได้เพิ่ม สร้างความยั่งยืนให้ชุมชน
         นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายพิชัย นริพทะพันธุ์) และ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายนภินทร ศรีสรรพางค์) ได้มอบนโยบายและสั่งการให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเร่งลงพื้นที่ในส่วนภูมิภาคเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสิทธิประโยชน์ต่างๆ จากการปลูกไม้ยืนต้น บนที่ดินของตนเอง โดยเฉพาะการชี้แจงให้ความรู้ถึงการนำไม้ยืนต้นที่ปลูกมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันการขอสินเชื่อภายใต้ กฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ หลังพบว่า เกษตรกรมีความตื่นตัวเป็นอย่างมากในการนำไม้ยืนต้นที่ปลูกมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ ซึ่งช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ยิ่งในปัจจุบันที่กฎหมายฯ เปิดกว้างให้ต้นไม้ทุกชนิดสามารถนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ (ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อกับเกษตรกรเจ้าของต้นไม้) ทำให้เกษตรกรทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเห็นถึงประโยชน์ของการปลูกไม้ยืนต้นบนที่ดินของตนเอง และต้องการทราบถึงรายละเอียดของข้อกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเพิ่มมากขึ้น
     ล่าสุด วันนี้ (วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2568) กระทรวงพาณิชย์ โดย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จับมือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่เกษตรกร เรื่อง ‘ส่งเสริมการนำทรัพย์หลักประกันเข้าถึงแหล่งทุน’ ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านพิมาน ต.พิมาน อ.นาแก จ.นครพนม ซึ่งเป็นเกษตรกรกลุ่มเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. ร่วมกันพิจารณาคัดเลือกในการลงพื้นที่เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และชี้แจงรายละเอียดเกณฑ์การพิจารณาให้สินเชื่อ โดยการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ
  ทั้งนี้ อ.นาแก จ.นครพนม มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 12693 ราย (ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://farmer.doae.go.th/ecoplant/eco_report/report1_regis_pv/48/ กรมส่งเสริมการเกษตร) ซึ่งมีจำนวนเกษตรกรมากเป็นอันดับ 2 ใน จ.นครพนม รองจากอำเภอเมืองนครพนม (15671 ราย) ส่งผลให้เกษตรกรในพื้นที่ต้องการได้รับความรู้และรายละเอียดของกฎหมายว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจมากขึ้น เพื่อใช้ประโยชน์จากที่ดินของตนเองอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยการปลูกไม้ยืนต้น และพร้อมเป็นกระบอกเสียงให้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในการเผยแพร่ความรู้ที่ได้รับแก่เกษตรกรที่รู้จักหรือเพื่อนบ้านที่ไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมฯ ในครั้งนี้
        อธิบดีอรมน กล่าวต่อว่า นอกจากองค์ความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจที่กรมฯ และ ธ.ก.ส. ร่วมกันบรรยายแล้ว ไฮไลท์สำคัญ คือ การสาธิตวัดไม้ยืนต้นที่ต้องการนำมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อประเมินมูลค่าการให้สินเชื่อเบื้องต้นของสถาบันการเงิน เช่น ต้นไม้ที่จะได้รับการประเมินมูลค่าต้องมีอายุมากกว่า 1 ปีขึ้นไป ปริมาณและราคาเนื้อไม้จะสัมพันธ์กับเส้นรอบวงต้นที่ความสูง 130 เซนติเมตรจากพื้นดิน เป็นต้น โดยต้นไม้ที่เกษตรกรนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจกับสถาบันการเงิน เช่น ธ.ก.ส. (โครงการธนาคารต้นไม้) ได้แก่ มะขาม มะกอกป่า สะเดา ต้นเต็ง รัง ประดู่บ้าน ประดู่ป่า เป็นต้น และผู้ประกอบธุรกิจให้สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด (พิโกไฟแนนซ์ / พิโกพลัส) ได้แก่ ยางพารา สัก ขนุน ยูคาลิปตัส ไม้สกุลทุเรียน ไม้สกุลมะม่วง ไม้สกุลยาง เป็นต้น รวมทั้ง การประเมินการกักเก็บคาร์บอนเครดิตของต้นไม้ให้เกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมได้รับรู้ถึงคุณสมบัติที่โดดเด่นของต้นไม้อีกด้วย
        นอกจากนี้ ยังเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนตำบลพิมาน เพื่อให้การส่งเสริมและสนับสนุนประเภทกิจการชุมชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางนา ได้แก่ โลชั่นยางนา น้ำมันเขียวยางนา สบู่สมุนไพรยางนา ตลอดจนผลิตภัณฑ์ผ้าทอ ผ้าคลุมไหล่ ผ้าพันคอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพื่อให้การส่งเสริมสร้างมูลค่าสินค้าประเภทกิจการชุมชนต่อไป
        สาเหตุหลักที่ทำให้สถาบันการเงินให้ความสำคัญกับการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน เนื่องจาก ไม้ยืนต้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นทุกปีตามอัตราการเติบโต ประกอบกับปัจจุบันกระแสการรักษาธรรมชาติ การแก้ปัญหาโลกร้อน การลดและชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นประเด็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนกำลังตื่นตัวและให้ความสำคัญ
            โดยคุณสมบัติที่โดดเด่นของไม้ยืนต้นอีกประการหนึ่ง คือ เป็นแหล่งผลิตออกซิเจนของโลก และเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรมที่มีการซื้อ-ขายในตลาดคาร์บอนเครดิต ซึ่งเจ้าของไม้ยืนต้นสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้อีกทางหนึ่ง นอกจากการใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันขอสินเชื่อ ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคตเกษตรกรและประชาชนจะหันมาปลูกไม้ยืนต้นกันมากขึ้น เนื่องจากเห็นประโยชน์ที่มีอยู่นานัปการ และเป็นทรัพย์สินที่สามารถส่งต่อเป็นมรดกแก่ลูกหลานในอนาคตได้อีกด้วย
            นครพนมเป็นจังหวัดที่มีทรัพยากรป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ และมีความหลากหลายทางชีวภาพสูง โดยเฉพาะป่าชุมชน ซึ่งเป็นป่าที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสมดุลของระบบนิเวศ และเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและเกษตรเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายเพื่อเสริมสภาพคล่องในการขยายธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจมีความผันผวน การมีหลักประกันทางธุรกิจที่หลากหลายจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่าย และสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ
            ทั้งนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้สร้างความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับกฎหมายหลักประกันทางธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง โดยดำเนินการผ่านช่องทางต่างๆ อาทิเช่น การจัดโครงการอบรม สัมมนา เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ เกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งการร่วมลงพื้นที่กับหน่วยงานพันธมิตร เช่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในส่วนภูมิภาค ได้แก่ จ.ขอนแก่น สุพรรณบุรี อุทัยธานี พิษณุโลก อ่างทอง อุทัยธานี เพชรบุรี ชัยนาท เชียงราย ราชบุรี นครสวรรค์ เป็นต้น
        ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567) มีผู้นำไม้ยืนต้นมาจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 28 จังหวัด จำนวน 167302 ต้น วงเงินค้ำประกันรวม 185826768.04 บาท ซึ่ง จ.นครพนม มีการนำไม้ยืนต้นมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจแล้ว จำนวน 579 ต้น เช่น ต้นสัก ยาง ประดู่ป่า พฤกษ์ มะขาม ไม้สกุลมะม่วง กฤษณา เป็นต้น” อธิบดีอรมน กล่าวสรุป
         สอบถามรายละเอียดการอบรมเพิ่มเติมได้ที่ กองทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร. 0 2547 4944 e-mail : stro@dbd.go.th หรือ www.dbd.go.th

 

#SuperDBD #กรมพัฒนาธุรกิจการค้า #กระทรวงพาณิชย์

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ