เมื่อ : 12 ธ.ค. 2566

“พืชพลังงาน” นับเป็นความอัศจรรย์ทางธรรมชาติ เพราะนอกจากจะเป็นแหล่งดูดซับ คาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างดีแล้ว พืชและซากพืช ตลอดจนวัตถุดิบเหลือใช้ทางการเกษตรหลายชนิด ยังสามารถนำมาใช้เป็น “เชื้อเพลิงชีวมวล” ในกระบวนการผลิตไฟฟ้า ทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก อันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อน ไปจนถึง “โลกเดือด” อย่างที่เป็นที่กล่าวถึงกันมากในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับประเทศไทยเองนั้น คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ก็มีนโยบายส่งเสริม การใช้พลังงานทดแทน โดยมีเป้าหมายเพื่อลดสัดส่วนการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งเสริม การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวภาพ และพลังงานชีวมวล (Decarbonization)

โดยนอกจาก “เชื้อเพลิงชีวมวล” ที่เรารู้จักกันดีอย่าง ปาล์มน้ำมัน อ้อย มันสำปะหลัง ข้าวโพด และหญ้าเนเปียร์แล้ว ปัจจุบันในต่างประเทศได้มีการศึกษาวิจัยจนทำให้สามารถนำพืชอีกหลายชนิด นำมาแปรรูปเป็นพลังงานได้

สาหร่าย

เราทราบกันดีว่า “สาหร่าย” คือพืชที่นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ไม่ว่าจะนำไปเป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องสำอาง ยา อาหารสัตว์ และปุ๋ย และปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกา1 เดนมาร์ก นอร์เวย์2 และเนเธอร์แลนด์3 ได้ประสบความสำเร็จในการนำสาหร่าย ไปหมัก รวมไปถึงนำกรดไขมันที่อยู่ในสาหร่ายมาสกัดเป็นน้ำมัน เพื่อแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และขณะนี้ประเทศเหล่านี้ก็กำลัง ศึกษาวิจัยและพัฒนาการผลิต เพื่อนำไปสู่การนำ “สาหร่าย” มาใช้เป็นพลังงานทดแทนในวงกว้างต่อไป

ไผ่

ไผ่เป็นพืชที่โตไว เป็นอีกหนึ่งวัตถุดิบจากธรรมชาติที่สามารถนำมาผลิตเป็น “ถ่านชีวภาพ” ใช้บำรุงดินได้ อีกทั้งทุกส่วนของต้นไผ่ประกอบด้วยเซลลูโลส เหมาะสำหรับทำเชื้อเพลิงชีวมวล อัดเม็ด โดยในปัจจุบันมีหลายประเทศที่ผลิต “ถ่านชีวภาพ” จากไผ่ เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย และประเทศไทย4

กาแฟ

กาแฟเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรที่สำคัญที่สุดในโลก การนำผลพลอยได้จากการผลิตกาแฟ ไม่ว่าจะเป็น เปลือกกาแฟ เมือกกระดาษ และกากกาแฟที่ใช้แล้ว มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพคือหนึ่งในวิธีการลดของเสีย และมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมกาแฟ หลายประเทศจึงกำลังศึกษาวิจัยการใช้ผลพลอยได้จากกาแฟ เช่น กากกาแฟ และเปลือกกาแฟ มาผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยส่วนใหญ่จะเป็นประเทศผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ของโลก เช่น บราซิล โคลอมเบีย คอสตาริก้า เอธิโอเปีย และเวียดนาม5

ต้นยางนา

ยางนาเป็นต้นไม้อายุยืน ยืนต้นได้นานนับพันปี นอกจากจะช่วยดูดซับมลพิษในอากาศได้ดีแล้ว ในต้นยางนายังมีน้ำมันที่สามารถนำมาสกัดเป็นไบโอดีเซลได้อีกด้วย โดยในประเทศไทย ก็มีหลายหน่วยงาน รวมถึงมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่ได้ศึกษาวิจัยการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันยางนา เพื่อให้เกษตรกรใช้เติมรถไถการเกษตรซึ่งใช้เครื่องยนต์รอบต่ำ และกำลังพัฒนาต่อยอดสู่การนำไปใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลรอบสูง เช่นรถปิกอัพ รถบรรทุกทั่วไป เพื่อทดแทนน้ำมันดีเซลได้ในอนาคต6

#กองทุนพัฒนาไฟฟ้า

#กกพ

#CleanEnergyforLife

#HopeSpot

#ZeroWaste

#K2Venture

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ