เมื่อ : 19 ธ.ค. 2566

มูลนิธิเอสซีจีมุ่งลดความเหลื่อมล้ำด้วยการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนมานานกว่า 60 ปี จนถึงปัจจุบัน ได้ให้ทุนการศึกษาไปแล้วกว่า 100000 โดยเน้นหลักสูตรการเรียนที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน ได้แก่ หลักสูตรด้านการแพทย์และสาธารณสุข เช่น ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ หลักสูตรด้านอุตสาหกรรม S-curve และ New S-curve หลักสูตรด้านเทคโนโลยี IT เป็นต้น พร้อมขยายแนวคิด Learn to Earn เรียนรู้เพื่ออยู่รอดอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดมูลนิธิเอสซีจี ได้จัดงาน Learn to Earn : The Forum จุดประกาย และเปิดมุมมองใหม่ ให้เยาวชน ได้เรียนรู้ ปรับตัว เพิ่มทักษะความรู้ และทักษะชีวิต (Soft skill & Hard skill)  ให้สามารถอยู่รอดได้ในโลกยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยได้ผนึกกำลังความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ได้รับเกียรติจาก 4 Key Drivers ของประเทศ มาร่วมแลกเปลี่ยนแนวคิดและมุมมองผ่านการเสวนาหัวข้อ “เรียนรู้ เพื่ออยู่รอด” ผนึกกำลังชาติ เพื่ออนาคตไทย มุ่งให้ความสำคัญและเน้นการพัฒนาศักยภาพของคนในทุกมิติ และส่งเสริมให้เกิดการ เรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong learning  และร่วมผลักดันแนวคิดดังกล่าว ให้เกิดเป็นรูปธรรม และนำไปปฏิบัติจริงเพื่อให้เกิดผลอย่างยั่งยืน  

 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกยุคปัจจุบัน ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบโดยเฉพาะเรื่องของ Digital Transformation และการขาดแคลนแรงงานอันเนื่องมาจากสังคมผู้สูงวัย ทางรอดของไทยคือต้องปรับตัวเป็น High skills labor เป็นแรงงานที่มีทักษะขั้นสูง และเป็นที่ต้องการของตลาด พร้อมทั้งเติม innovation และ งานวิจัย ที่ใช้งานได้จริง ส่วนภาคอุตสาหกรรมไทยปัจจุบันได้ปรับตัวมุ่งไปสู่  Next GEN INDUSTRIES อุตสาหกรรมใหม่แห่งอนาคต รองรับการผลิต 3  กลุ่มคือ S curves และ New S curve ทักษะที่เป็นที่ต้องการสูงสุด 3 อันดับแรก คือ วิศวกรรม  ดิจิตอล และ data analytic 

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหาร กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การแก้ปัญหาในเรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชนมีทั้งกลุ่มที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาและที่ออกนอกระบบไปแล้ว กลุ่มที่ยังอยู่ในระบบการศึกษาพบว่าปัญหาปัจจุบันคือหลักสูตรที่เรียนรู้ไม่ตอบโจทย์ทักษะการทำงาน ทำให้เกิดปัญหาการว่างงาน ส่วนกลุ่มที่ออกนอกระบบการศึกษาไปแล้ว ควรหันมาพัฒนาทักษะอาชีพเพื่อเพิ่มโอกาสการมีงานทำ ซึ่งตนเห็นด้วยกับการเรียนหลักสูตรอาชีพระยะสั้น ที่ใช้เวลาเรียนประมาณ 1 ปี จบแล้วมีงานทำแน่นอน เช่น หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ หรือผู้ช่วยพยาบาล ซึ่งเป็นสายอาชีพที่ตลาดมีความต้องการสูง ทั้งนี้ การจัดการเรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชนนั้น ส่วนตนแล้วมองว่าสำหรับเด็กและเยาวชนที่หลุดไปจากระบบการศึกษาแล้ว ผู้ที่เกี่ยวข้องควรต้องตามกลับมาให้เด็กและเยาวชนกลับมาเรียนต่อ แต่หากตามกลับมาไม่ได้ ก็ควรต้องมีโอกาสให้พวกเขาได้เรียนรู้ต่อไปได้แม้จะหลุดออกไปนอกระบบการศึกษาแล้วก็ตาม

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร นายกสภามหาวิทยาลัยมหิดล และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วในระบบการศึกษาอยากให้เป็นการเรียนแบบ learn on anywhere ซึ่งสถาบันการศึกษาหลายแห่งสามารถสนับสนุนการเรียนในลักษณะของ micro credential ประกาศนียบัตรฉบับจิ๋ว ใช้เวลาในการเรียนไม่นาน เน้นเรียนในสิ่งที่จะตอบโจทย์ตลาดแรงงานได้ นอกจากจะได้งานทำแล้ว ผู้เรียนยังสามารถนำความรู้ความสามารถที่ได้รับมาใช้ต่อยอดหากต้องการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นไปได้อีกด้วย นอกจากทักษะด้านเทคโนโลยีต่างๆ ทักษะด้านการวิเคราะห์ ด้านบริหารและความเป็นผู้นำแล้ว ทักษะที่ตลาดยังคงมีความต้องการสูงคือทักษะด้านภาษาและด้านการสื่อสาร ซึ่งส่วนตัวแล้วมองว่า การพัฒนาหลักสูตรหรือสร้างหลักสูตรใหม่ๆ ขึ้นมานั้น ควรต้องทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันการศึกษากับองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้หลักสูตรนั้นตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้อย่างแท้จริง และหลักสูตรที่เหมาะสมกับยุคของการเปลี่ยนแปลงนี้ควรต้องเป็นหลักสูตรที่เป็นการเรียนรู้ข้ามศาสตร์ ด้วยการนำหลายศาสตร์มาผสมผสานกัน ไม่ใช่การเรียนรู้เพียงเรื่องเดียวหรือศาสตร์เดียวเหมือนอย่างในอดีต

ดร.พิเชฐ โพธิ์ภักดี รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ปัญหาที่พบในปัจจุบันคือการผลิตคนที่บางครั้งไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการกำลังพยายามเปลี่ยนแปลง และทำให้เป็นการเรียนแบบ anytime anywhere ทั้งเพื่อเร่งผลิตคนให้ตอบโจทย์ตลาด อีกทั้งเพื่อตอบรับสังคมผู้สูงวัย โดยได้ทำงานร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในการเรียนรู้ความต้องการตลาดแรงงานในปัจจุบันและนำมาพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ตอบโจทย์ทักษะที่ตลาดต้องการ พบว่าปัจจุบันมีหลายหลักสูตรใหม่ๆ ที่ออกมา ผู้เรียนมีความสุขในการเรียนแล้วยังมีรายได้ในขณะเรียนด้วย เช่น หลักสูตรอีสปอร์ต ส่วนความร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ นั้น ทางกระทรวงศึกษาธิการได้ร่วมกับกระทรวงอื่นในการช่วยกันส่งเสริมการเรียนรู้ในลักษณะที่เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต  เป็นต้น   

 

ด้านนางสาวปรียา พรมแดง หนึ่งในรุ่นพี่นักเรียนทุนมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า ตนเองมีความเชื่อว่าสิ่งที่นำพาให้มาอยู่ในจุดนี้ได้ คือการไม่หยุดพัฒนาตนเอง ด้วยความมุ่งมั่นที่ต้องการเป็นครูเพราะต้องการส่งต่อโอกาสและความคิดให้กับคนรุ่นใหม่ หลังจากที่คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 จากคณะศึกษาศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยนเรศวร มาได้แล้ว ก็ได้สมัครเป็นครูสมใจที่โรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพฯ แม้ว่าจะเรียนจบเอกภาษาไทย แต่ก็ใช้เวลาฝึกฝนอย่างหนักกับภาษาอังกฤษที่เป็นวิชาที่ชอบ และยังมีโอกาสได้เรียนภาษาบาฮาซา ที่อินโดนีเซีย ปัจจุบันยังเรียนเพิ่มเติมภาษาเยอรมันอีกด้วย เวลาที่นอกเหนือจากการสอนที่เป็นงานประจำ จะหมดไปกับการ up skills ด้วยการอ่านและดูสื่อต่างๆ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมหรือการแข่งขันเพื่อเปิดโลกทัศน์และทดสอบทักษะที่มีอยู่ รวมถึงการ re skills ด้วยการฝึกฝนในสิ่งที่เรียนมา นั่นก็คือทุกภาษาที่มีความรู้ความชำนาญ ทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาบาฮาซา รวมถึงทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นกับการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ทักษะการแก้ปัญหา ทักษะการวิเคราะห์ ทักษะชีวิต  หรือทักษะการปรับตัวที่ตนเองมองว่าจำเป็นมากสำหรับการทำงาน เพราะไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนหากเรียนรู้ที่จะอยู่องค์กรนั้นได้จะทำให้ชีวิตมีความหมายมากขึ้น สำหรับแนวคิด Learn to Earn นั้น ตนเองมองว่าเป็นการฝึกฝนและพัฒนาทักษะที่ถนัดหรือสนใจ เพื่อต่อยอดให้กลายเป็นอาชีพได้ โดย up skills เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้ตัวเอง และ re skills เพื่อรักษาคุณค่านั้นไว้หรือเพิ่มทักษะสำคัญเพื่อต่อยอดการทำงาน เมื่อทำได้ จะทำให้สามารถ Earn from Learn ได้อย่างมีความสุข

มูลนิธิเอสซีจี เชื่อว่าคุณภาพของทรัพยากรบุคคลมีความสำคัญที่สุด หากจะพัฒนาประเทศให้ได้ผล พื้นฐานต้องเริ่มต้นที่การพัฒนาคนทั้งเรื่องการพัฒนาทักษะ หรือการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในวันนี้มีบทบาทและความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการศึกษาภาคบังคับ นอกจากนี้ยังต้องมีการร่วมมือกันของทุกภาคส่วน เพื่อที่จะทำให้เกิดผลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อจะช่วยกันผลักดันประเทศให้เติบโตไปได้ไกลกว่าที่เป็นอยู่ ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org  และเฟซบุ๊ก LEARNtoEARN

 

#LEARNtoEARN #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #มูลนิธิเอสซีจี

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ