เมื่อ : 11 ก.ย. 2566

ประเทศนอร์เวย์ขึ้นชื่อได้ว่ามีสภาพภูมิอากาศที่หนาวเหน็บและทรหด ยากต่อการอยู่อาศัยของผู้คน แต่กลับกลายเป็นสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์แบบสำหรับปลา นี่คือเหตุผลว่าทำไมนอร์เวย์ถึงดำรงชีพด้วยการประมงและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ซึ่งเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น และกลายเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่และยั่งยืนที่สุดในโลก มาวันนี้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของอุตสาหกรรมการประมงของนอร์เวย์ ประเทศแห่งอาหารทะเลนี้ยึดหลักจริยธรรม ความเชี่ยวชาญทางชีววิทยาทางทะเลที่สั่งสมมา เทคโนโลยีล้ำสมัย และมาตรการที่เข้มงวด เพื่อรักษามาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหารและอนาคตของอุตสาหกรรม โดยที่ยังสงวนไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ

 ที่นอร์เวย์ ฟาร์มเลี้ยงปลาตั้งอยู่ในทะเลเปิด รายล้อมไปด้วยน้ำทะเลที่เย็นและใสสะอาดในน่านน้ำที่ไหลมาจากธารน้ำแข็งฟยอร์ด ห่างไกลจากพื้นที่สัญจรทางทะเล วัตถุดิบส่งออกยอดนิยมอย่างแซลมอนถูกเลี้ยงในกระชังที่มีพื้นที่กว้างขวาง ให้ปลาได้ว่ายน้ำและเติบโตในสภาพแวดล้อมที่สะอาด เปรียบเทียบได้กับพื้นที่น้ำ 97.5% ต่อปริมาณแซลมอน 2.5% ในทุก ๆ กระชัง มีการใช้เลเซอร์ที่ควบคุมโดยเทคโนโลยี AI เพื่อกำจัดเหาทะเลโดยไม่เป็นอันตรายต่อปลา ด้วยระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถระบุและติดตามปลาที่มีร่องรอยของเหาทะเลเกาะบนร่างกายได้อย่างแม่นยำ ปลาทุกตัวได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด เพื่อลดความเครียดซึ่งสามารถส่งผลต่อรสชาติได้ ระหว่างการทำฟาร์มแต่ละรอบ จะมีการพักให้ระบบนิเวศทางทะเลในพื้นที่นั้น ๆ ได้ฟื้นฟู และมีการติดตามดูสภาพท้องทะเลอย่างใกล้ชิด จำนวนฟาร์มถูกจำกัดอยู่ที่ 750 แห่ง ต่อพื้นที่ชายฝั่งระยะทาง 28953 กิโลเมตร บริษัทที่ต้องการทำฟาร์มเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจะต้องผ่านขั้นตอนการขอใบอนุญาตที่เข้มงวด ในแต่ละปี ผู้ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาจะต้องจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนเงินกว่าหกพันล้านบาท (นอกเหนือจากงบประมาณของรัฐบาล) ในการสนับสนุนงานวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับการประมง การบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานที่มีประสิทธิภาพเช่นนี้ ทำให้นอร์เวย์สามารถส่งออกแซลมอนสดจากกระชังในน่านน้ำมหาสมุทรแอตแลนติกมาถึงสนามบินสุวรรณภูมิที่กรุงเทพฯ ได้ภายใน 48 ชั่วโมง เพื่อให้คนไทยได้อิ่มอร่อยไปกับปลาสีส้มยอดนิยมที่ทั้งอร่อยและเต็มไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ

 นี่เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของการที่นอร์เวย์ได้นำเอาความเชี่ยวชาญกว่าศตวรรษ สถิติ ข้อมูลเชิงลึก และเทคโนโลยีล้ำสมัย เข้ามาใช้ในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมการประมงเพื่อให้มั่นใจว่าอนาคตที่ยั่งยืนของท้องทะเลจะยังดำรงอยู่ต่อไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน ญาญ่า – อุรัสยา เสปอร์บันด์ นักแสดงลูกครึ่งไทย-นอร์เวย์ และพรีเซนเตอร์คนแรกของ Seafood from Norway ในประเทศไทย ได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมฟาร์มแซลมอนแบบดั้งเดิมและในมหาสมุทร ที่สะท้อนถึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการประมงแบบยั่งยืน ที่เมืองเวสเตอโรลน์ ประเทศนอร์เวย์ ภายใต้แคมเปญ ‘The Story from the North’ การไปเยือนประเทศนอร์เวย์ของ ญาญ่า - อุรัสยา ในครั้งนี้ เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและนอร์เวย์ ทำให้คนไทยได้เข้าใกล้ชีวิตความเป็นอยู่ วิถีทางทะเล และความเคารพในธรรมชาติของคนนอร์เวย์มากยิ่งขึ้น สัมผัสความเป็นนอร์เวย์ผ่านการประมงที่ทันสมัยและยั่งยืน กับ ‘The Story from the North’ คลิปวิดีโอความยาว 2.40 นาที ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คน ธรรมชาติ และความยั่งยืน ได้ที่นี่