เครือซีพี ยกระดับการแปรรูปกาแฟคุณภาพ “น้ำพาง โมเดล” จ.น่าน มุ่งสู่ Fine Robusta เพิ่มมูลค่า สร้างเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน
มื่อเร็วๆนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ขับเคลื่อนโครงการ “ซีพี...เพื่อความยั่งยืน : C.P. for Sustainability” มุ่งสร้างความยั่งยืนในทุกมิติ เศรษฐกิจ ชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ให้ความรู้การแปรรูปกาแฟคุณภาพ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรตำบลน้ำพาง จ.น่าน นำโดย นายอรรถวิทย์ ยุทธยศ ผู้จัดการทั่วไป ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ และกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยได้รับเกียรติจาก นายภีร์นริศร์ ผ่องหทัยกุล ประธานชมรมกาแฟพิเศษน่าน เจ้าของร้านโรงคั่วกาแฟ น.น่าน ผู้เชี่ยวชาญกาแฟโรบัสต้า ร่วมเป็นวิทยากร ให้ความรู้การแปรรูปกาแฟโรบัสต้า เพื่อยกระดับคุณภาพกาแฟให้เป็น Fine Robusta ณ บ้านน้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน
นายอรรถวิทย์ ยุทธยศ ผู้จัดการทั่วไป ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐ และกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากที่เครือซีพี เข้าไปดำเนินงานด้านความยั่งยืนในพื้นที่บ้านน้ำพาง อ.แม่จริม จ.น่าน ในการส่งเสริมการปลูกพืชทดแทนพืชเชิงเดี่ยว ในโครงการ “น้ำพาง โมเดล” ร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษาและชุมชน ร่วมกันฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวควบคู่การพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยเฉพาะการปลูกกาแฟพันธุ์โรบัสต้าฟื้นฟูป่า ในการส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างรายได้อย่างยั่งยืน โดยในครั้งนี้ เป็นการพัฒนาเพื่อยกระดับการแปรรูปกาแฟโรบัสต้าให้มีคุณภาพที่ดีมากยิ่งขึ้น โดยในปีนี้ มีเป้าหมายส่งเข้าประกวด เพื่อกระดับกาแฟของน้ำพางโมเดลเป็นกาแฟโรบัสต้าคุณภาพ Fine Robusta ได้
จากการลงพื้นที่สำรวจและเก็บข้อมูลคุณภาพผลผลิตกาแฟในพื้นที่น้ำพาง พบว่ามีแนวโน้มที่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นกาแฟโรบัสต้าระดับพิเศษ หรือ Fine Robusta ได้ โดย CPALL ร่วมกับวิทยากร คุณภีร์นริศร์ ผ่องหทัยกุล ผู้มีประสบการณ์ด้านการแปรรูปกาแฟลงพื้นที่ให้ความรู้ กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรกรบ้านน้ำพาง ตั้งแต่กระบวนการต้นน้ำ คือ การคัดเลือกแปลงกาแฟที่เหมาะสม การเรียนรู้สายพันธุ์กาแฟ พื้นที่ปลูกที่เหมาะสม การคัดเลือกกาแฟเชอรี่ให้ได้คุณภาพ ตลอดจนกระบวนการแปรรูป (fermentation) และอบรมภาคปฏิบัติ โดยให้เกษตรกรลงมือแปรรูปกาแฟในกระบวนการต่างๆ ที่ถูกต้อง
ทางด้าน นายปวรวิช คำหอม ผู้จัดการน้ำพางโมเดล กล่าวว่า ที่ผ่านมา น้ำพางโมเดล ร่วมกับเครือซีพี ในการฟื้นฟูป่า โดยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำเกษตรกรรมมาปลูกพืชทางเลือกมูลบค่าสูง โดยปัจจุบัน มีพื้นที่กว่า 3800 ไร่ โดยมีพืชหลักคือ มะม่วงหิมพานต์ กาแฟ โกโก้ และ อะโวคาโด้ มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชน สำหรับกาแฟโรบัสต้า ชุมชนปลูกมา 3 ปีแล้ว โดยจำหน่ายเป็นเชอรี่แห้งไม่ได้ผ่านการแปรรูป โดยในปีนี้ได้รับการสนับสนุนจาก CPALL ในการเข้ามาให้ความรู้กระบวนการแปรรูปกาแฟ อยู่ในช่วงการเก็บข้อมูลคุณภาพ โดยมีเป้าหมายคือ การสร้างชื่อเสียงให้กาแฟน้ำพางเป็นที่รู้จัก เป็นกาแฟโรบัสต้าคุณภาพ Fine Robusta เทียบเท่ากับตลาดแข่งขัน นำไปสู่การสร้างรายได้มากขึ้น มั่นคง และยั่งยืนภายในชุมชน พร้อมทั้ง เรื่องที่เราต่อสู้แก้ไขปัญหาภูเขาหัวโล้น สามารถเพิ่มพื้นที่ป่า จากการปลูกกาแฟสร้างป่า โดยมีแผนปลูกกล้ากาแฟเพิ่มขึ้นให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรที่เป็นสมาชิกวิสาหกิจชุมชน นำไปสู่การยอมรับเชิงนโยบาย หน่วยงานภาครัฐเข้ามาสนับสนุนระบบน้ำ การอนุญาตใช้พื้นที่ทำกินต่างๆ