เมื่อ : 07 เม.ย. 2567

 

“งานแสดงสินค้า” เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่บริษัทผู้จำหน่ายสินค้าและบริการจำนวนมากมองว่ามีประสิทธิภาพสูงในการใช้สร้างชื่อเสียงให้กับแบรนด์ ใช้จำหน่ายสินค้า ใช้เก็บข้อมูล และวัดอุณหภูมิของตลาด เพราะภายในเวลาเพียงไม่กี่วันของการจัดงาน ผู้ซื้อจากทั่วทุกสารทิศจะหลั่งไหลกันมาพบผู้ขายถึงคูหา ซึ่งอาจจะได้ยอดขายหรือได้ผลทางการตลาดที่มีมูลค่ามากกว่าวิธีการขายทั่วไปหลายเดือนรวมกันเสียอีก

          มุมมองนี้ทำให้อุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนักในช่วงสองปีก่อน กลับมาเฟื่องฟูได้อีกครั้ง โดยรายงานจากเว็บไซต์ ResearchAndMarkets.com ระบุว่า ตลาดการจัดงานและงานแสดงสินค้าทั่วโลกจะเติบโตในอัตรา 2.88% ต่อปี จนมีมูลค่าสูงถึง 52.68 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2029 ส่วนตลาดในไทยนั้น สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) รายงานว่า ในปี 2023 มีการจัดการประชุมและนิทรรศการระดับนานาชาติ 117 งานในไทย โตขึ้นในอัตรา 185.37% ต่อปี ซึ่งสามารถสร้างรายได้ 18633 ล้านบาท โตขึ้น 321.28% ต่อปี

ในจำนวนนี้ มี 12 แบรนด์งานแสดงสินค้าระดับนานาชาติที่จัดโดยผู้จัดงานที่อยู่ในประเทศไทยมาเกือบ 40 ปี นั่นคือ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ (RX Tradex) นำทีมโดยแม่ทัพหญิง วราภรณ์ ธรรมจรีย์ กรรมการผู้จัดการ ซึ่งเป็นผู้จัดงาน Trade Show ที่มีชื่อเสียงในวงการ เช่น งาน METALEX สำหรับวงการโลหการ Manufacturing Expo สำหรับการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุน และ COSMEX สำหรับการผลิตเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย รวมทั้งงานที่จัดร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ อย่างงาน TILOG – LOGISTIX

วราภรณ์ เผยถึงภาพรวมอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าไทยว่า “ในปีที่แล้ว อุตสาหกรรมงานแสดงสินค้าพลิกฟื้นกลับขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด แม้ในภาพรวมอาจยังไม่รุ่งเรืองเหมือนช่วงก่อนโควิด แต่หลายงานกลับมาคึกคักและมีงานใหม่เกิดขึ้น ทำให้เศรษฐกิจถูกขับเคลื่อนเพราะมีผู้เดินทางมาชมงานจากหลายประเทศ มีการใช้จ่าย จ้างงาน เพื่อถ่ายทอดนวัตกรรมและองค์ความรู้ เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม เศรษฐกิจ และความก้าวหน้าของประเทศ ซึ่งพวกเรา RX Tradex เชื่อว่า ตลาดในปี 2024 นี้จะคึกคักยิ่งกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะงานที่เราจัด คาดว่าจะมีสเกลที่ใหญ่ขึ้น 10 – 15% แต่ละปีมีเม็ดเงินสะพัดที่เกิดจากการเจรจาธุรกิจในงานแสดงสินค้าของเราสร้างมูลค่าธุรกิจหมุนเวียนนับหมื่นล้านบาท” ผลกระทบเชิงบวกและมูลค่าทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในแต่ละปีนี้ เกิดจากผู้แสดงสินค้าและผู้ซื้อจำนวนหลายแสนที่มาร่วมงาน แต่บางงานที่มีขนาดหลายหมื่นตารางเมตร ถูกสร้างขึ้นจากผู้จัดงานจำนวนเพียงหยิบมือเดียว

“วงการผู้จัดงานแสดงสินค้าเป็นวงการเล็ก ๆ คนในวงการรู้จักกันดีเพราะมีโอกาสได้พบเจอกันตามงาน เช่น งานของสมาคมงานแสดงสินค้าไทยที่บริษัทผู้จัดงานต่าง ๆ เป็นสมาชิกอยู่ ทำให้เราได้ทำกิจกรรมด้วยกัน เช่น การหารือเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหรือการฝึกอบรมบุคลากรในวงการ ซึ่งแต่ละบริษัทก็ไม่ได้มีขนาดใหญ่มาก อย่างของ RX Tradex เอง แม้ทีมงานจะไม่ได้ใหญ่มาก แต่ทุกคนเป็นผู้จัดงานมืออาชีพที่ตั้งใจทำงานด้วยประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อประโยชน์ของลูกค้าทุกคนที่ไว้ใจเรา”

2 ใน 3 ของทีมงาน RX Tradex เป็นสุภาพสตรีผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของงานแสดงสินค้าระดับอาเซียนอย่าง METALEX งานแสดงเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีโลหการอันดับหนึ่งของอาเซียนที่มีพื้นที่แสดงกว่า 64000 ตารางเมตร มีผู้ร่วมงานเกือบแสนคน หรืองาน Manufacturing Expo มหกรรมเครื่องจักรและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและอุตสาหกรรมสนับสนุน ที่มีพื้นที่และจำนวนผู้เข้าร่วมงานใกล้เคียงกัน “เรามีทีมงานสตรีจากหลากหลายพื้นภูมิเข้ามาศึกษาอุตสาหกรรมการผลิต ศึกษาเครื่องจักรและเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้เข้าใจและสามารถจัดงานที่จะนำผู้ซื้อกลุ่มเป้าหมายมาพบผู้แสดงสินค้าได้ หลายคนอาจมองว่าเรื่องเครื่องจักร เรื่องอุตสาหกรรมหนัก เป็นเรื่องของผู้ชาย แต่ในบริษัทของเรา เราโปรโมทความเท่าเทียม ไม่มีการแบ่งแยกทางเพศหรือแบ็คกราวน์ เพราะหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กรของเราคือ Inclusivity & Diversity หรือความเท่าเทียมและความหลากหลาย”

Inclusivity & Diversity (I&D) เป็นคอนเซ็ปต์ที่หลายบริษัทได้นำมาสร้างเป็นวัฒนธรรมองค์กร เพราะ I&D สามารถมอบประโยชน์มากมายซึ่งเป็นการรวมไว้ซึ่งบุคลากรจากหลากหลายวัฒนธรรม พื้นภูมิ วิธีคิด และความชอบส่วนตัว นิตยสาร Forbes เคยตีพิมพ์บทความที่กล่าวถึง 8 เหตุผลที่ I&D สำคัญกับองค์กร ได้แก่ 1. ทำให้รวมไว้ซึ่งนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ 2. ทำให้มีทักษะที่หลากหลายขึ้นในองค์กร 3. คนมีความสามารถจากหลากหลายพื้นเพอยากร่วมงานด้วย 4. พนักงานมีความสุขมากขึ้น 5. ทีมเวิร์คมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 6. องค์กรเข้าใจลูกค้าที่มีหลากหลายความคิดมากขึ้นเพราะมีพนักงานที่มีหลากหลายมุมมอง 7. การว่าจ้างบุคลากรไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบความคิดเดิม ๆ จึงมีโอกาสได้คนมากฝีมือเข้ามาร่วมงานด้วยมากขึ้น และ 8. รายได้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้น เพราะเมื่อพนักงานมีความสุข มีทักษะ มีความคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรม มีประสิทธิภาพ และเข้าใจลูกค้ามากขึ้น ความสำเร็จก็จะตามมา

วราภรณ์พูดถึงนโยบาย I&D ของ RX Tradex ว่า “บริษัทแม่ของเรา หรือ RX ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมมาก มีการจัดตั้งผู้บริหารและคณะทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ โดยมีผู้แทนสำนักงานสาขาจากหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย เข้าร่วมเพื่อทำกิจกรรมให้ความรู้และรณรงค์ด้านความเท่าเทียมทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เพศทางเลือก คนจากหลากหลายวัฒนธรรมและความคิด มีการจัดตั้ง Global Gender Equity Committee หรือคณะกรรมการความเท่าเทียมทางเพศระดับโลก ซึ่งประกอบด้วยคณะกรรมการจากทั่วโลกที่มีหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศ ที่กำลังทำงานเพื่อสร้างความเท่าเทียมในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนความเท่าเทียมของสตรีในวงการงานแสดงสินค้า โดยในปีที่แล้ว RX ได้ร่วมมือกับองค์กรชื่อ Women in Exhibitions (WIE) ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2018 เพื่อเสริมพลังให้สตรีในอุตสาหกรรมงานแสดงสินค้า พร้อมสร้างสตรีรุ่นใหม่ขึ้นมาเป็นผู้นำในวงการ อีกทั้งยังมีการทำงานกับองค์กร Women in Aviation ในตะวันออกกลางในงาน Airport Show ที่ดูไบ มีการจัดสัมมนา The Women’s Forum ในงาน Road Cargo Transport ในบราซิล การจัดงาน Women in Cybersecurity ครั้งที่ 8 ในงาน Infosecurity Europe ที่อังกฤษ และการจัดการประชุมสตรีในงาน World Travel Markets (WTM) ซึ่งโปรโมทความเท่าเทียมทางเพศในลอนดอนและต่อยอดไปยังงาน WTM ในประเทศอื่น ๆ อีกด้วย”

ศิริรัตน์ สังข์วิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารจัดการโครงการ ผู้เริ่มทำงานที่ RX Tradex เมื่อ 19 ปีที่แล้วในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารจัดการโครงการ พูดถึงความเท่าเทียมทางเพศในสำนักงานว่า “ความถนัดและทักษะของทุกคนที่ RX Tradex ไม่ได้มาจากคำว่าหญิงหรือชาย แต่มาจากการศึกษา การทำงาน และการสั่งสมประสบการณ์ ตลอดระยะเวลาที่ทำงานมา ไม่เคยรู้สึกว่านี่คือสิ่งที่ผู้ชายต้องทำหรือนี่คือสิ่งที่ผู้หญิงต้องทำ เพราะทุกคนทำทุกอย่างได้เหมือนกัน บริษัทย้ำเสมอเรื่องการเปิดกว้างทางการแสดงออก ทั้งทางตัวตนและทางความคิด ทำให้เราได้ไอเดียใหม่ ๆ มาพัฒนางานอยู่เสมอ ทำให้การทำงานลื่นไหลเพราะไม่มีเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศมาเป็นช่องว่าง”

จรรยา เพ็ชรพูล ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ เผยถึงการสร้างพื้นที่เปล่าของสถานที่จัดงานให้กลายเป็นมหกรรมขนาดยักษ์ในเวลาเพียงไม่กี่วันว่า “จะผู้หญิงหรือผู้ชายก็ต้องยกของเหมือนกันค่ะ พอทุกคนเท่าเทียม ทีมเวิร์คก็แข็งแกร่งขึ้น ช่วงเวลาเตรียมงานแต่ละงานมีไม่มากนัก บางงานขนาดใหญ่เต็มพื้นที่ไบเทค เรามีเวลาเพียงแค่สองวัน เราต้องทำงานแทบทั้งวันทั้งคืน เพื่อให้งานเสร็จสวยพร้อมรับผู้ร่วมงานทันเวลา งานแบบนี้ทุกคนต้องช่วยกันค่ะ เราจึงจะทำให้เรื่องที่ดู Impossible นั้น Possible ได้”

ประภัสสร พูลโรจน์ ผู้จัดการกลุ่มฝ่ายขาย พูดถึงทีมขายของบริษัทว่า “เรามีทีมงานที่หลากหลาย ทั้งหญิง ชาย และ LGBTQ ซึ่งการจัดงานในหลากหลายสาขาอุตสาหกรรม ความหลากหลายทางความคิด ประสบการณ์ และมุมมอง ทำให้เราเข้าใจและเข้าถึงลูกค้าที่มีหลากหลายของเราได้เช่นกัน บริษัทเรามีสโลแกนว่า We are in the business of building businesses หรือเราอยู่ในธุรกิจของการสร้างธุรกิจ เราจึงขายพื้นที่และทำงานร่วมกับแผนกบริหารจัดการโครงการและแผนกการตลาดเพื่อให้มั่นใจได้ว่า งานของเราจะช่วยลูกค้าสร้างธุรกิจของเขาให้เติบโต และได้ผลตอบแทนจากการลงทุนกับเราสูงสุด”

วราภรณ์กล่าวทิ้งท้ายถึงเรื่อง I&D ว่า “บริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้าอย่างเราไม่ได้มีสินค้าอะไรที่จับต้องได้ สินค้าของเราคืองานที่มีชีวิตอยู่ 3 – 4 วัน แม้ว่าปัจจุบันเราจะมีบริการทางการตลาดให้ลูกค้าตลอดทั้งปี แต่เราก็ไม่ได้ผลิตสินค้าเหมือนหลาย ๆ บริษัท บุคลากรคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของเรา เพราะบุคลากรคือคนที่สร้างงานและบริการต่าง ๆ เหล่านั้นให้เกิดขึ้น เราจึงไม่จำกัดว่าคนที่จะมาทำงานกับเราต้องมีบุคลิกลักษณะที่อยู่ในกรอบเดียวกัน แต่เราอ้าแขนโอบรับคนจากหลากหลายอัตลักษณ์ทางเพศและแนวความคิด จากหลากหลายเจเนอเรชันเข้ามาร่วมงาน ทำให้เราเป็นบริษัทที่ไม่หยุดนิ่ง และสามารถสร้างสรรค์งานที่ทันสมัยและสดใหม่อยู่เสมอ เป็นงานคุณภาพที่พร้อมสร้างธุรกิจให้กับลูกค้าเราทั้งปี”

 

ติดตามปฏิทินและรายละเอียดของงานแสดงสินค้าของ RX Tradex ได้ที่ www.rxtradex.com

 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ