6 ไอเดียที่เจ้าของธุรกิจต้องรู้ ให้แบรนด์ทำงานร่วมกับครีเอเตอร์ แบบเข้าใจและมีคุณภาพ
สรุป Sessions Every Possible Way for Business to Work with Creator โดย คุณขจร เจียรนัยพานิชย์ จาก RAiNMaker ในงาน MITCON 2024
.
ตั้งแต่หลังช่วงโควิดเป็นต้นมา การเป็น Content Creator ก็เป็นที่นิยมมากขึ้น ในปัจจุบันมีครีเอเตอร์รวมแล้วถึง 165 ล้านคนทั่วโลกด้วยกัน
.
ส่วนใหญ่ 39% เป็น User Generate Content หรือเป็นยูสเซอร์ทั่วไปที่ผันตัวมาเป็นครีเอเตอร์ นับเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนที่เป็น Content Creator ตั้งแต่แรกซะอีก
.
ดังนั้นหนึ่งในวิธีที่จะทำให้แบรนด์เพิ่มยอดขายหรือ Engagement ก็คือการนำสินค้าหรือตัวแบรนด์นำเสนอผ่านเหล่าครีเอเตอร์นั่นเอง
.
ซึ่งเราจะมาดู 6 วิธีการทำงานร่วมกันระหว่างแบรนด์และ Content Creator จะมีอะไรบ้าง ไปดูกัน
.
1. Sponsor Post (Advertorial)
เรียกง่าย ๆ ก็คือการเอาสินค้าไปให้เหล่าครีเอเตอร์รีวิว หรือการจ้างทำคอนเทนต์ โดยแบรนด์จะเป็นสปอนเซอร์ให้ ซึ่งส่วนใหญ่รายได้ 70% ของแบรนด์ก็มาจากการใช้วิธี Sponsor Post ซึ่งวิธีนี้ยังแบ่งได้ออกเป็น 3 รูปแบบ
.
- Review : การรีวิวผ่านครีเอเตอร์ ซึ่งโดยหลัก ๆ จะพูดถึงข้อดีและข้อเสียในการใช้งาน จุดสำคัญของรูปแบบนี้อยู่ที่ความจริงใจ เพราะ Content Creator ไม่ใช่พรีเซนเตอร์ ดังนั้นแบรนด์จึงไม่ควรไปตั้งข้อจำกัด หรือเน้นว่าให้พูดแต่ข้อดี ควรแสดงให้เห็นความจริงใจในการรีวิวไปเลย
- Tie-in : เป็นการจ้างครีเอเตอร์ให้ทำคอนเทนต์ตามสไตล์ของตัวเอง แต่แฝงการโฆษณา Tie-In ลงไปในบางช่วง สิ่งสำคัญคือควรเลือกโปรดักซ์ให้เหมาะกับคอนเทนต์ที่ครีเอเตอร์นั้นจะทำ
- Storyline - เป็นการนำโปรดักซ์ไปเป็นสปอนเซอร์ให้กับครีเอเตอร์ โดยให้ Content Creator คนนั้นเล่าเรื่องราวเหมือนเป็นหนึ่งคอนเทนต์ของเขา และคอนเทนต์นั้นจะบอกเล่าเรื่องราว ๆ ต่าง ๆ ของแบรนด์ เช่น นายอาร์มที่อธิบายถึงเรื่องแบรนด์ Marshall ซึ่งเป็นสปอนเซอร์โดนก็อปปี้สินค้าอยู่บ่อย ๆ
.
2. Experience
เป็นการนำสินค้าไปเป็นสปอนเซอร์ โดยให้ทาง Content Creator มีส่วนร่วมกับสินค้าหรือกิจกรรมเพื่อรับประสบการณ์โดยตรง เปรียบเสมือนว่าให้ครีเอเตอร์มาเป็นลูกค้าของแบรนด์ และได้ใช้สินค้าจริง ๆ เพื่อสามารถทำไปบอกเล่าประสบการณ์จริง ๆ ต่อได้
.
3. Pitching Creator
เป็นการทำแบรนด์ร่วมกับ Content Creator อย่างจริงใจ เวลาที่เราทำงานกับครีเอเตอร์ด้วยรูปแบบนี้ จะต้องเน้นความจริงใจเป็นหลัก หากไม่มี Budget ก็บอกไปตามตรง อาจจะมอบสินค้าให้รีวิวไปเลย เป็นการสนับสนุนและให้ความสำคัญกับครีเอเตอร์เป็นหลัก
.
4. Event Support
การซัพพอร์ตอีเวนท์ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครีเอเตอร์ ตัวอย่างเช่น มีอีเวนท์งานหนึ่งที่มี Content Creator หลายคนเข้าร่วม ซึ่งทางแบรนด์ Sony ก็มาเป็นสปอนเซอร์ให้ โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ เลย เน้นย้ำอีกด้วยว่าไม่ต้องเอ่ยถึงแบรนด์เขาก็ได้ เพราะเขาแค่อยากสนับสนุนอีเวนท์ดี ๆ แบบนี้
.
อีกทั้งยังเสนอกิจกรรมที่จะช่วยเหลือน้อง ๆ ในอีเวนท์ให้ได้เรียนทักษะการถ่ายภาพ โดยเอาสินค้ามาให้ลองใช้กันจริง ๆ ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นการสร้างความประทับใจให้กับเหล่าครีเอเตอร์เป็นอย่างมาก
.
ในเวลาต่อมาเมื่อ Sony จัดอีเวนท์และต้องการเชิญ Content Creator มาร่วมงาน กลุ่มครีเอเตอร์ในงานอีเวนท์นี้ก็ยกกันมาทั้งหมด เพื่อพร้อมช่วยเหลือแบรนด์ Sony นั่นเอง
.
5. Affiliate Program
วิธีนี้จะเป็นการให้ครีเอเตอร์ทำคอนเทนต์ โดยมีลิงก์หรือช่องทางมอบให้ และเมื่อมีคนเข้ามาซื้อสินค้า หรือใช้บริการแบรนด์ กลุ่มครีเอเตอร์ที่เป็นเชิญชวนเข้ามาผ่านลิงก์หรือช่องทางนี้ ก็จะได้ค่าคอมมิชชั่นแบ่งกันไป บางคนสามารถทำยอดได้เป็นหลักแสนเลยก็มี แต่ถ้าเราเป็นแบรนด์ที่อยากใช้วิธีนี้ ก็ต้องเข้าใจส่วนหนึ่งว่าครีเอเตอร์ที่จะเลือก ส่วนใหญ่มักจะเป็น User ทั่วไป เป็นครีเอเตอร์ที่เป็นบุคคลทั่วไปหลายหมื่นคน ที่อยากทำคอนเทนต์โดยมี Budget ติดเข้ามาบ้างนั่นเอง
.
6. Long Term Relationship
เป็นการผูกสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์กับครีเอเตอร์แบบระยะยาว ถ้าแบรนด์เห็นว่าครีเอเตอร์คนไหนมีแววไปได้ไกล ก็จะเพิ่มความสัมพันธ์เพื่อร่วมงานกันเป็นระยะเวลานาน เหมือนเป็นเพื่อน สิ่งสำคัญคืออย่าหวังผลลัพธ์มาก ให้เปรียบเหมือนเราจริงใจกับเพื่อน มีน้ำใจให้กัน สร้างความสัมพันธ์และความประทับใจ สิ่งเหล่านี้เกิดจากการอยากผูกสัมพันธ์ ไม่ได้หวัง Advertorial
.
ตัวอย่างเช่น คุณขจร จาก RAiNMaker ที่เคยจัดอีเวนท์และเจอปัญหาไม่มีน้ำดื่ม จึงต้องติดต่อเร่งด่วนไปยัง CPALL ที่เป็นเครือของเซเว่น เพื่อขอซื้อน้ำมา 600 ขวด แต่ทาง CPALL กลับเลือกที่จะมอบให้เป็นการสนับสนุนอีเวนท์เลย รวมไปถึงวันที่ลูกของคุณขจร ลืมตาออกมาดูโลก ก็ได้มีทีมผู้จัดการนำกระเช้าของขวัญไปแสดงความยินดี ทำให้เกิดความรู้สึกผูกพันธ์ และหลังจากนั้นคุณขจรก็จะนึกถึง CPALL เป็นอันดับแรกเมื่อการทำงานที่เกี่ยวข้องกัน
.
ทั้งหมดนี้ สิ่งสำคัญคือการมองครีเอเตอร์ให้เหมือนเป็นเพื่อน เราอยากได้คอนเทนต์จากเขาเพื่อเพิ่มยอดขาย หรือ Engagement ก็จริง แต่ Content Creator ก็มีเอกลักษณ์แต่ละคนแตกต่างกัน ดังนั้นเราจึงไม่ควรบังคับหรือตั้งกฎเกณฑ์มาจำกัดตัวเขา แต่ให้ใช้ความเข้าใจและความประทับใจ เพื่อให้ร่วมงานกันออกมาได้ผลลัพธ์ที่ดี
.